.jpg)
รถต้นแบบ คำนี้อาจทำให้หลายคนถึงกับขมวดคิ้ว แต่หากพูดว่า 'Concept Car' คงฟังดูรื่นหูขึ้น รถคันงามโดดเด่นบนเวทีที่ไม่ต้องถามหายอดขาย เพราะสายพานผลิตยังไม่ทันเดินสายทำงาน มันโชว์ตัวเพื่อทำหน้าที่อวดสรรพคุณนวัตกรรมใหม่อันเลอเลิศของแต่ละยี่ห้อเพื่อขย่มค่ายคู่แข่งต่างหากเล่า
รถคอนเซปต์ล้วนถูกตราหน้าถึงความล้ำสมัย และถูกโยนความคาดหวังว่าในอนาคตอันใกล้ ความล้ำสมัยที่โชว์หราในขณะนั้นจะถูกยัดใส่รถที่ผลิตขายจริง เพื่อสนองความสะดวกสบาย ความประหยัด แม้กระทั่งความปลอดภัย ตามแต่คอนเซปต์คาร์นั้นๆ จะเลือกมาเป็นจุดขาย
แต่ในหลายๆ ครั้งที่มักมีคนตั้งคำถามถึงขั้นนินทา 'Concept Car' ตรงหน้า ว่าวัตถุล้ำยุคมันใช้งานได้ในชีวิตจริงหรือ บางคนถึงขั้นไม่กล้าจะคิดด้วยซ้ำว่าในวันข้างหน้ามนุษย์จะได้ใช้เทคโนโลยีที่ได้เจอในวันนี้
'1967 OSI Silver Fox' หรือ 'เจ้าเขี้ยวเงิน' คอนเซปต์คาร์แห่งความหวังในยุคก่อนก็คือหนึ่งในนั้น คำถามจากทั่วสารทิศถาโถมเข้ากระหน่ำเพื่อสะกิดความน่าฉงนถึงตรรกะแห่งการคิดของผู้ออกแบบ สาเหตุของรูปทรงตัวรถที่ถูกออกแบบแยกเป็นสองส่วน มันทำให้ความแข็งแกร่งของตัวรถยังคงอยู่จริงหรือ?? ดูเหมือนจะไม่สามารถควานหาความสมบูรณ์แบบได้เลยในตัวของมัน
สาเหตุที่หลายๆ ครั้งรถต้นแบบถูกดีไซน์และยัดเทคโนโลยีที่ยังแทบมองไม่ออกว่าจะนำมาใช้ได้จริงในอนาคต เพราะรถต้นแบบที่ถูกสร้างตั้งอยู่บนเงื่อนไขการแข่งขันอันดุเดือด ระหว่างงานดีไซน์และสมรรถนะ นั่นจึงทำให้ความคิดด้านการใช้งานจริงมักถูกโยนทิ้งลงถังขยะเป็นลำดับแรก
ว่ากันต่อถึงที่มาที่ไปของ 'เจ้าเขี้ยวเงิน' มันถูกคิดและสร้างโดยค่ายรถสัญชาติอิตาลี OSI (Officina Stampaggio Industriale SpA) ก่อตั้งในปี 1960 ซึ่งหลังจากก่อตั้งบริษัทได้ 7 ปี OSI ต้องการสร้างยนตรกรรมอันโดดเด่นเพื่อเชิดหน้าชูตาสั่นสะท้านวงการในงาน 'Turin Motor Show' ให้จงได้
และที่นั่นเป็นที่แรกที่ Silver Fox ได้ปรากฏกายสู่สายตาชาวโลก มันมาพร้อมเครื่องยนต์ Renault Alpine 4 สูบ ความจุ 1.0 ลิตร ที่ดูเหมือนขนาดเครื่องยนต์อาจจะดูเล็กจนเกินไปกับคำว่านวัตกรรม แต่ไม่เลย ด้วยเครื่องยนต์ขนาดจิ๋วมันสามารถทำให้เจ้าเขี้ยวเงินพุ่งทะยานได้ด้วยความเร็วสูงสุดที่เกือบ 250 กม./ชม. เลยทีเดียว
นอกเหนือจากรูปทรงที่ดูแปลกประหลาด เจ้าเขี้ยวเงินยังมีการจัดการด้านอากาศพลศาสตร์ที่ดูขัดหูขัดตาไม่น้อย สปอยเลอร์ด้านหน้าที่ถูกติดตั้งระหว่างตัวรถสองข้างจะปรับองศาของตัวมันเองเมื่อรถมีการเคลื่อนที่ ในขณะที่สปอยเลอร์ด้านหลังกลับถูกปรับให้อยู่ในตำแหน่งเดิมตายตัว ไม่สามารถปรับองศาได้แม้แต่น้อย
แผนการใหญ่ของ OSI คือการตั้งความหวังที่จะส่ง Silver Fox เข้าเฉิดฉายร่วมแข่งขันรายการอันขึ้นชื่อด้านหฤโหด ซึ่งต้องทำการแข่งขันต่อเนื่อง 24 ชม. อย่างรายการ 'Le Mans' เป็นการพิสูจน์ถึงสมรรถนะเพื่อฉีกหน้าผู้ที่ยังคลางแคลงใจในความสมบูรณ์แบบของมัน
แต่ทุกอย่างต้องพังทลายแทบไม่เหลือชิ้นดี เพราะหลังจากเปิดตัว Silver Fox ได้ไม่นาน OSI กลับวิ่งเข้าชนความบรรลัยทางการเงินชนิดเกินเยียวยาในปีถัดมา และนั่นมันเป็นเหตุผลที่ใหญ่เพียงพอที่จะทำให้ชื่อของ OSI และ Silver Fox กลายเป็นรถแห่งอนาคตที่ถูกทิ้งไว้ในประวัติศาสตร์เพียงแค่นั้น...
|