ตัวแทนจำหน่ายและอู่ติดตั้ง
สถิติผู้เข้าชม
 ขณะนี้มีผู้เข้าใช้ 4
 ผู้เข้าชมในวันนี้ 185
 ผู้เข้าชมทั้งหมด 2,754,710
 เปิดเว็บ 11/03/2554
 ปรับปรุงเว็บ 02/03/2567

  ข่าวยานยนต์
รถสปอร์ตคูเป้รุ่นล่าสุดของ Toyota
[17 ตุลาคม 2555 09:19 น.]จำนวนผู้เข้าชม 6200 คน

นี่คือรถสปอร์ตคูเป้รุ่นล่าสุดของ Toyota ที่เข้ามาสานต่อตำนานของ Celica และ Corolla AE86 มันคือ Toyota GT86 รถสองประตูขับเคลื่อนล้อหลังเครื่องยนต์สูบนอนที่ใช้เทคโนโลยีร่วมกับ Subaru BRZ ตอนแรกกับจุดกำเนิดและการพัฒนา...
หากคุณเป็นคนที่ชอบความเร็ว ความงดงามและการควบคุมของ Toyota 2000GT / Toyota supra / Toyota MR2 / Toyota Celica รถสปอร์ตในตำนานของค่ายสามห่วง นับจากปี 2012 ในช่วงกลางปีเป็นต้นไป คุณก็จะได้พบกับสปอร์ตคาร์สองประตู เครื่องยนต์สูบนอนวางด้านหน้าขับเคลื่อนล้อหลังพลัง 200 แรงม้า ที่เข้ามาสานต่อประวัติศาสตร์มอเตอร์สปอร์ตของ Toyota และนี่คือรถ Toyota GT86 ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือของวิศวกรจาก Toyota และ Subaru รังสรรค์รถสปอร์ตคูเป้ที่ถูกออกแบบให้ขับขี่ได้สนุกสนานตามสไตล์รถเล็ก น้ำหนักเบา แต่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพทั้งจากประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ระบบกันสะเทือน อุปกรณ์ภายในที่ถูกออกแบบให้มีความเร้าใจยามขับขี่ใช้งาน รวมถึงคุณภาพงานประกอบและชุดแต่งเสริมความหล่อที่สื่อให้เห็นถึงจักรกล สปอร์ตเจ้าแห่งตำนานในอดีตอย่าง Toyota AE86

Toyota Celica T230

นับเป็นเวลากว่า 40 ปีมาแล้วที่ Toyota เคยเป็นเจ้าแห่งรถสปอร์ต เริ่มตั้งแต่ตัวรถรุ่น GT2000 ในช่วงกลางยุค 1960 มาจนถึงสปอร์ตคาร์พลังสูงรุ่น Supra รถคูเป้สองประตู เครื่องยนต์แถวเรียง 6 สูบอัดเทอร์โบที่ร้อนแรงในยุค 90's ตามติดมาด้วยรถสปอร์ตเครื่องยนต์วางกลางลำอย่าง Toyota MR2 ทั้งสามโมเดล โดยเริ่มจาก MR2 AW11 ในช่วงปลายปี 1984 ต่อมากับความงดงามปราดเปรียวและลงตัวในโมเดลที่ 2 นั่นก็คือ Toyota MR2 SW20 1989-1997 สปอร์ตคาร์เครื่องวางกลางที่ดุดันมากที่สุดในรุ่นเครื่องยนต์ติดเทอร์โบ ปริมาตรความจุไม่เกิน 2,000 ซีซี และ MR2 รุ่นสุดท้ายเจ้าของรหัส ZZW-30 ซึ่งในเมืองไทยใช้ชื่อว่า MRS รวมถึง Toyota Celica อีก 7 โมเดล เช่น A20-35 Series 1970-1977 / A40-A50 1977-1981 / A60 Series 1982-1985 / T160 1985-1989 / T180 1989-1993 / T200 1993-1999 / T230 1999-2006 หลังจากนั้นค่าย Toyota จึงยกเลิกสายการผลิตรถสปอร์ตทั้งหมดลงอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากประสบกับปัญหาขาดทุน


Toyota AE86

จุดกำเนิดและการพัฒนา
ประวัติศาสตร์ของ Toyota AE86 เกิดขึ้นจากสภาพการขับขี่ควบคุมที่ดีของตัวรถ แม้จะถูกสร้างขึ้นอย่างหยาบๆ แต่รถคูเป้ขับเคลื่อนล้อหลังรุ่นสุดท้ายของค่ายสามห่วงคันนี้ มีน้ำหนักที่เบามาก แถมยังใช้เครื่องยนต์สี่สูบรอบจัดที่มีความเหมาะสมกับงานวิศวกรรมโครงสร้างช่วงล่างแบบง่ายๆ แต่ให้อารมณ์และความรู้สึกแบบสปอร์ตได้อย่างเต็มเปี่ยม แม้จะไม่มีระบบอัดอากาศแบบซุปเปอร์ชาร์จหรือเทอร์โบชาร์จเจอร์ แต่ AE86 เป็นจักรกลสปอร์ตสองประตูอีกคันในยุค 1983-1987 ที่ได้รับความนิยมสูงมาก หลังจากนั้นตำนานของทาคูมิ การ์ตูนยอดนักซิ่งจากญี่ปุ่น ซึ่งพระเอกใช้รถ Toyota AE86 เป็นพาหนะที่เข้ามาสานต่อจิตวิญญาณของรถสปอร์ตคันเล็กแต่ยิ่งใหญ่จากค่ายสามห่วง กลับยิ่งทำให้ AE86 กลายเป็นรถอมตะที่ได้รับความนิยมไปทั่วในกลุ่มขาซิ่งที่ชื่นชอบการขับขี่แบบดริฟท์ ขณะเดียวกัน ประธานบริหารสูงสุดของ Toyota Mr.Akio Toyoda ผู้ที่มีจิตใจโอนเอียงไปทางมอเตอร์สปอร์ตตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ต้องการสานต่อประวัติศาสตร์ของรถยนต์ที่ขับขี่ได้อย่างสนุกสนาน โครงการรถต้นแบบ FT 86 จึงถึอกำเนิดขึ้นในปี 2010-2011

Mr.Akio Toyoda President and Chief Executive Toyota Motor ประธานบริหารของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งโลกยนตรกรรม Mr.Akio Toyoda หลงใหลในวงการมอเตอร์สปอร์ตมาช้านานก่อนที่จะเข้ามากุมบังเหียนค่าย Toyota ในเจเนอเรชั่นที่ 3 ของตระกูล Toyoda Mr.Akio มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่หันกลับมานิยมชมชอบรถสปอร์ตของ Toyota อีกครั้ง ความตั้งใจดังกล่าวจึงถูกส่งถ่ายผ่านมันสมองของวิศวกร Toyota ให้ทำการคิดค้นรถยนต์แบบ 2 ประตูที่สามารถสร้างจินตนาการในการขับขี่ที่สนุกสนาน ตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนที่หลงใหลรถยนต์แบบ 2 ประตูทั่วโลก แผนแบบของรถ Concept FT86 จึงก่อกำเนิดขึ้นในแผนกออกแบบของ Toyota เมื่อปี 2006 ตามมาด้วยการทดสอบอย่างหนักหน่วงทั้งในยุโรปและญี่ปุ่นเป็นเวลากว่า 3 ปี โครงการดังกล่าวจึงสิ้นสุดลงในช่วงปลายปี 2011 และเข้าสู่สายการผลิตเพื่อออกขายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2012

Toyota FT86 Concept

Mr.Akio Toyoda ส่งมอบแผนงานให้วิศวกรของ Toyota ในการผลิตรถสปอร์ตขนาดเบาอันทรงประสิทธิภาพที่คนทั่วๆ ไปสามารถครอบครองได้ และมอบหมายโครงการนี้ให้กับ Duncan McMath ผู้จัดการฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์และการตลาดของ Toyota Europe ขณะเดียวกัน สภาพการณ์อันย่ำแย่ของ Subaru ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ Akio Toyoda ไม่รีรอที่จะเข้าไปร่วมทุนเพื่อนำเอาเทคโนโลยีของระบบขับเคลื่อนและส่งกำลัง รวมถึงเครื่องยนต์และการกระจายน้ำหนักที่ดีของรถ Subaru มาปรับใช้ร่วมกับ FT86 Concept ตัวรถต้นแบบจะต้องมีกำลังประมาณ 200 แรงม้า เบากว่า Audi TT ที่มีอะลูมินัมอัลลอยอยู่ถึง 100 กิโลกรัม ซึ่งหมายความว่ามันจะต้องเบากว่า Nissan Fairlady Z ถึง 400 กิโลกรัม โดยรถรุ่นใหม่นี้ถูกมุ่งเน้นไปที่เรื่องของอัตราส่วนระหว่างแรงม้าต่อน้ำหนัก วิศวกรของ Toyota จึงนำเอาเครื่องยนต์สูบนอนอันทรงประสิทธิภาพและมีขนาดกะทัดรัด รวมถึงน้ำหนักที่เบาของเครื่องสูบนอนจากค่าย Subaru มาวางลงไปใน Toyota FT86 Concept

Toyota FT86 Concept

 

Duncan McMath ผู้จัดการฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์และการตลาดของ Toyota Europe ต้องการให้สปอร์ตคาร์ต้นแบบคันใหม่นี้มีอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตรในช่วง 6-7 วินาที และมีความเร็วสูงสุดอยู่ในระดับ 150 ไมล์ต่อชั่วโมง การควบคุมมลพิษต้องอยู่ในมาตรฐานที่สามารถรองรับและวางขายในยุโรปได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงประมาณ 45 ไมล์ต่อแกลลอน และปล่อย CO2 150 กรัมต่อระยะทางหนึ่งกิโลเมตร เป็นจุดที่คนของ Toyota ในสำนักงานที่ยุโรปได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน Subaru ซึ่ง Toyota เข้าไปร่วมทุนด้วยก็กลายเป็นคู่ค้าทางธุรกิจที่สำคัญ โดย Subaru มีหน้าที่ผลิตเครื่องยนต์ให้กับโครงการนี้ร่วมกับวิศวกรของ Toyota ซึ่งเป็นฝ่ายปรับจูนระบบจ่ายเชื้อเพลิงและระบบจุดระเบิดทั้งหมด เพื่อทำให้เครื่องยนต์สูบนอนมีอัตราการปล่อย CO2 ต่ำกว่าเครื่องยนต์ของ Subaru ที่เคยมีมา รถต้นแบบ FT86 ใช้ระบบส่งกำลังแบบ 6 สปีด และขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลังเหมือนบรรพบุรุษของมันทุกประการ


จุดกำเนิดของ Concept FT86 เริ่มต้นขึ้นเมื่อ Toyota ลองให้ทาง Subaru คิดค้นรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลังที่วางเครื่องยนต์สูบนอนแบบสี่กระบอกสูบหายใจเอง ค่าย Subaru ซึ่งกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าใดนัก ตกลงรับโครงการพัฒนาเครื่องยนต์ดังกล่าว และแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันระหว่างสองบริษัท ค่าย Toyota รับผิดชอบด้านการออกแบบตัวรถทั้งหมด ส่วน Subaru รับผิดชอบด้านงานวิศวกรรมโครงสร้างและการพัฒนาควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ สำหรับตัวเลขแรงม้าของเครื่องยนต์สูบนอนขนาด 2.0 ลิตร รหัส FA20 ที่พัฒนาระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบไดเรคอินเจกชั่นโดยวิศวกรของ Toyota เครื่องยนต์รุ่นใหม่นี้วางตำแหน่งไว้ค่อนข้างต่ำเตี้ยติดพื้น โดยมันมีระดับความเตี้ยมากกว่าเครื่องของ Subaru Impreza ประมาณ 120 มิลลิเมตร เลื่อนเข้าไปติดกับผนังของห้องโดยสารถึง 240 มิลลิเมตร บนน้ำหนักตัวเพียงแค่ 1,202 กิโลกรัม ทำให้รถสปอร์ตคันนี้มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำเทียบเคียง Porsche Cayman บนตัวเลข 460 มิลลิเมตร


ลิมิเต็ดสลิปจะเป็นออปชั่นให้ลูกค้าเลือกติดตั้ง ระบบเกียร์แบบทวินคลัตช์ที่มีน้ำหนักมากและมีต้นทุนที่สูงลิบถูกตัดออกไป รถต้นแบบในโครงการ FT86 ซึ่งต่อมากลายเป็นสปอร์ตคาร์ GT86 จึงถูกทดสอบและพัฒนาขึ้นเพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดีเทียบเท่า หรือเหนือกว่ารถคู่แข่ง Concept FT86 มีความเตี้ยกว่า VW Scirocco ประมาณ 144 มิลลิเมตร สั้นกว่า 96 มิลลิเมตร Duncan McMath หัวหน้าโครงการต้องการออกแบบให้เบาะหลังของมันสามารถรองรับผู้โดยสารได้ดีกว่า Audi TT และหากพับเบาะหลังลงจะใส่ถุง Golf ได้ถึงสองใบ หรือหมวกกันน็อกกับยางอีกสี่เส้นสำหรับลูกค้าที่ชอบนำรถไปขับเล่นในสนามแข่ง กลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้างกว้างของรถสปอร์ตรุ่นนี้ซึ่งมีทั้งแม่บ้านและวัย รุ่น ทำให้การพัฒนาตัวรถเต็มไปด้วยความเข้มข้น ทาง Toyota เองก็เล็งเห็นถึงกำไรจึงไม่อาจทำให้โครงการ GT86 ออกมาในแบบที่ใกล้เคียงกับรถแข่งมากจนเกินไป และพัฒนาออกมาโดยยึดถือแนวทางที่เน้นการขับขี่ควบคุมที่ดีเป็นอันดับแรก


ข้อได้เปรียบของรถต้นแบบ Toyota FT86 ก่อนที่จะพัฒนาจนมาถึงจุดสูงสุดแล้วกลายเป็น GT86 คือการนำเอาเครื่องยนต์สูบนอนแบบ Boxer ของ Subaru มาวางลงในห้องเครื่องยนต์ โดยกำหนดให้การวางเครื่องต้องต่ำมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำจะส่งผลตอบแทนในการควบคุมรถที่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพ เครื่องยนต์สูบนอนที่ใช้มีความสูงน้อยกว่าเครื่องยนต์สี่สูบแบบปกติถึง 110 มิลลิเมตร เครื่องสูบนอนที่ Toyota ใช้รหัสว่า FA20 ยังมีขนาดที่กะทัดรัดมากกว่า และทำให้สามารถกระจายน้ำหนักบนตัวเลข 50/50 ได้ตามต้องการ แม้ว่าชุดส่งกำลังจะอยู่ด้านหน้าต่อท้ายเครื่องยนต์ Duncan McMath หัวหน้าโครงการพัฒนา FT86 Concept ให้ความเห็นว่า Porsche Boxster และ Mazda MX-5 NC คือแนวทางในการเทียบเคียงสมรรถนะของการขับขี่ รถ Toyota FT/86 Concept จะต้องปราดเปรียวว่องไว ขับง่าย เกาะถนน และสามารถลัดเลาะไปตามเส้นทางที่อุดมไปด้วยทางโค้งได้ดี เป้าประสงค์ของ Mr.Akio Toyoda ยังคงมุ่งเน้นไปที่การขับแบบดริฟท์ ซึ่งการกระจายน้ำหนักในอัตราส่วนที่มีความสมมาตร ส่งผลให้ Toyota GT86 เป็นรถสปอร์ตขนาดเบาที่มีเสถียรภาพ ระดับของการยึดเกาะที่ไม่มากจนเกินไปยังตรงตาม Concept ของการพัฒนา เพื่อทำให้มันกลายเป็นรถที่ควบคุมได้อย่างง่ายดาย



Duncan McMath หัวหน้าโครงการพัฒนา FT86 Concept ทำงานให้กับค่ายสามห่วงในยุโรป กับยุคสมัยที่รถอย่าง Supra / Celica / MR2 เริ่มจางหายไปจากวงการรถสปอร์ต หลังจากที่ Toyota เองก็มุ่งมั่นในการสร้างรถบ้านมากจนเกินไป ถึงเวลาแล้วที่ค่ายยักษ์ใหญ่แห่งโลกยนตรกรรมจะแสดงให้เห็นว่าพวกเค้าสามารถกลับมายืนในจุดที่เคยยืนอีกครั้ง โครงการ FT86 จะก่อให้เกิดกระแสความนิยมในรถสปอร์ตน้ำหนักเบา และนำเอาการขับขี่ควบคุมที่ดีกลับไปใส่ในรถบ้านให้มากยิ่งขึ้น ความท้าทายทั้งหมดกำลังส่งผลของความสำเร็จ หลังจากที่ Toyota FT86 ตัวต้นแบบถูกส่งไปตั้งแสดงตามงานแสดงรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกในปี 2010-2011 ตามมาด้วยการเปิดผ้าคลุมรถ Toyota GT86 และ Subaru BRZ คู่แฝด ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์เมื่อช่วงเดือนธันวาคมของปี 2011 กระแสตอบรับที่ดีจะช่วยทำให้ Toyota กลับมาเป็นผู้นำอีกครั้งสำหรับการสร้างรถสปอร์ตสองประตูสมรรถนะสูง หลังจากที่ Toyota ทำตัวให้ห่างหายไปจากวงการนานกว่า 10 ปี

ข่าวยานยนต์
- ทิศทางยานยนต์ไทย ผ่านมุมมอง′บิ๊กโตโยต้า′ [17 ตุลาคม 2555 09:19 น.]
- เท่ขั้นเทพ 'WaterCar Python' สุดยอดพาหนะ ไม่สะท้านแม้น้ำครองโลก!! [17 ตุลาคม 2555 09:19 น.]
- 86 รถสปอร์ตยุคใหม่จากโตโยต้า [17 ตุลาคม 2555 09:19 น.]
- บางจาก-ปตท.ลดน้ำมัน กลุ่มโซฮอล์ลิตรละ 50 สต [17 ตุลาคม 2555 09:19 น.]
- โตโยต้าไทยร่อนจดหมาย เรียก"คัมรี-โคโรลล่า-วีออส-ยาริส" เข้าตรวจสอบสวิตช์กระจกไฟฟ้า 160,907 คัน [17 ตุลาคม 2555 09:19 น.]
- สุดจี๊ด ! มอเตอร์ไซค์"พลังไฟฟ้า" ซีโร่ เอฟเอ็กซ์ [17 ตุลาคม 2555 09:19 น.]
- "ฟอร์ด"เรียกคืน"เฟียสต้า" กว่า 150,000 คัน ระบบถุงลมนิรภัยมีปัญหา [17 ตุลาคม 2555 09:19 น.]
- รถสปอร์ตคูเป้รุ่นล่าสุดของ Toyota [17 ตุลาคม 2555 09:19 น.]
- 'Silver Fox' รถแห่งอนาคตที่ถูกลืมทิ้งไว้ในประวัติศาสตร์ [17 ตุลาคม 2555 09:19 น.]
- HONDA FIT HYBRID RS ของดีที่อดขับ [17 ตุลาคม 2555 09:19 น.]
ดูทั้งหมด

ข้อควรปฎิบัติในการแสดงความคิดเห็น

  • ไม่โพสคำหยาบ

  • ไม่พาดพิงผู้อื่นในทางเสียหาย

  • ไม่พาดพิงถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของชาวไทย

หากตรวจพบจะทำการลบข้อความนั้นๆ ทิ้งทันที

  แสดงความคิดเห็น

ตัวหนา ตัวเอียง ตัวขีดเส้นใต้ ตัวขีดกลาง ชิดซ้าย กึ่งกลาง ชิดขวา รูปภาพ ลิ้งก์ ขนาดต้วอักษร สีต้วอักษร

ชื่อ: *
E-mail : *
ไม่ต้องการแสดง Email
รหัสตรวจสอบ : Security Image
* กรุณากรอกรหัสที่อยู่ในรูป

Engine by MAKEWEBEASY